บันทึกการเรียนรู้ครั้งที่ 2
วันจันทร์ ที่ 15 สิงหาคม 2559
เนื้อหาบทที่ 2
หลักเบื้องต้นในการให้การศึกษาแก่ผู้ปกครองเด็กปฐมวัย
การให้การศึกษาแก่ผู้ปกครองเด็กปฐมวัยถือเป็นนโยบายที่สำคัญประการหนึ่งของการจัดการศึกษาปฐมวัยในปัจจุบัน
การให้ผู้ปกครองได้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาจะช่วยทำให้พ่อแม่
ผู้ปกครองได้เรียนรู้และเข้าใจถึงจุดมุ่งหมายที่สำคัญของการพัฒนาเด็ก
ทำให้ดำเนินงานทางการศึกษาระหว่างบ้านกับโรงเรียนเป็นไปในทิศทางเดียวกัน
เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ปกครองได้มีความรู้และเข้าใจเกี่ยวกับการดำเนินงานของโรงเรียนและกิจกรรมการเรียนการสอน
อีกทั้งยังเป็นการสร้างเครือข่ายทางการศึกษาทำให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกันระหว่างบ้านกับโรงเรียน
ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาการศึกษาให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน
การให้การศึกษาแก่ผู้ปกครอง หมายถึง การให้ความรู้เกี่ยวกับการอบรมเลี้ยงดูเด็ก
เพราะเด็กอยู่ในความรับผิดชอบของสถาบันครอบครัว
การให้ความรู้แก่ผู้ปกครองถือเป็นกระบวนการทางสังคม
ซึ่งสังคมมีหน้าที่ถ่ายทอดความรู้ให้แก่บุคคลภายในสังคมให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในสังคม
ทั้งในและนอกระบบ การให้การศึกษาแก่ผู้ปกครองจึงเป็นการช่วยเหลือพ่อแม่ ผู้ปกครอง
ตลอดจนผู้ที่เตรียมตัวจะเป็นพ่อแม่ให้ได้เรียนรู้ถึงวิธีการในการดูแล อบรมเลี้ยงดู
และให้การศึกษาแก่เด็ก เพื่อให้เด็กเจริญเติบโตอย่างมีคุณภาพและได้รับประสบการณ์ที่มีคุณค่า
เพื่อการพัฒนาตนต่อไปในอนาคต
การให้การศึกษาแก่ผู้ปกครองเป็นสิ่งสำคัญที่มีต่อการศึกษาเด็กปฐมวัย
สรุปได้ดังนี้
1. เป็นการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการศึกษาของเด็ก
2. เป็นการให้ผู้ปกครองได้เข้าใจถึงบทบาทและหน้าที่ของตนเองที่มีต่อการศึกษาของเด็ก
3. ทำให้ลดความขัดแย้งในการดำเนินงานทางการศึกษา
ช่วยให้การศึกษาเป็นไปในทิศทางเดียวกัน
4. เปิดโอกาสให้ผู้ปกครองได้มีส่วนสนับสนุนและพัฒนาการศึกษาของเด็ก
5. ช่วยทำให้สถาบันครอบครัวมีความแข็งแรง
การให้การศึกษาแก่ผู้ปกครองโดยสรุปมีวัตถุประสงค์
ดังนี้
1. เพื่อให้เข้าใจถึงวิธีการในการอบรมเลี้ยงดูเด็กและให้การศึกษาแก่เด็ก
2. เพื่อให้ความรู้และวิธีการในการส่งเสริมพัฒนาการและการเรียนรู้ให้แก่เด็ก
3. เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวการศึกษาของเด็กที่โรงเรียนเพื่อให้ที่บ้านเข้าใจตรงกัน
4. เพื่อส่งเสริมให้ผู้ปกครองได้ตระหนักถึงบทบาทของตนเองในการมีส่วนร่วมส่งเสริมพัฒนาการและการเรียนรู้ให้แก่บุตรหลาน
5. เพื่อให้ผู้ปกครองได้รับรู้และเข้ามามีบทบาทในการจัดการศึกษาให้แก่บุตรหลาน
รูปแบบในการให้การศึกษาแก่ผู้ปกครองเด็กปฐมวัย
การจัดการศึกษาที่เปิดโอกาสให้ผู้ปกครองเข้ามามีบทบาทในการจัดการศึกษา
การให้ความรู้ผู้ปกครอง จึงมีความสำคัญที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้ดำเนินงาน
เพื่อจัดรูปแบบในการให้ความรู้เพื่อเข้าถึงเป้าหมาย
รูปแบบการให้ความรู้ผู้ปกครองสามารถกระทำได้ด้วยวิธีการดังนี้
- การให้ความรู้แบบทางการ (formal) เช่น การบรรยาย การอภิปราย การโต้วาที ฯลฯ
- การให้ความรู้แบบไม่เป็นทางการ (informal)
เช่น
การระดมสมอง การประชุมโต๊ะกลม การประชุมกลุ่มย่อย
อรุณี หรดาล (2536) ได้เสนอรูปแบบการให้ความรู้แก่ผู้ปกครองที่เหมาะสมกับสังคมไทย
ควรมีลักษณะผสมผสานระหว่างรูปแบบที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ
ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเนื้อหาความรู้ และขนาดของกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งมีอยู่ 5 ลักษณะ
ดังนี้
1. เป็นรายบุคคล
การให้ความรู้แก่ผู้ปกครองเป็นรายบุคคล ส่วนมากจะจัดแบบไม่เป็นทางการ เช่น
การเยี่ยมบ้าน การสนทนาซักถาม ฯลฯ
2. กลุ่มขนาดเล็ก
รูปแบบการให้ความรู้ในกลุ่มเล็ก ส่วนมากจะจัดแบบไม่เป็นทางการ เช่น การพบปะสนทนา
การประชุมกลุ่มย่อย การประชุมโต๊ะกลม การระดมสมอง ฯลฯ
3. กลุ่มขนาดใหญ่
อาจจัดได้หลายรูปแบบทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ เช่น การบรรยาย การอภิปราย
การประชุมเชิงปฏิบัติการ
4. ระดับชุมชน
เช่น การบรรยาย การปาฐกถาหมู่ การโต้วาที การอภิปรายกลุ่ม การสนทนา ฯลฯ
5. ระดับมวลชน
เช่น วิทยุ เทปเสียง วีดีทัศน์ สื่อสิ่งพิมพ์
ฉันทนา ภาคบงกช (2531)
ได้แบ่งรูปแบบการให้ความรู้แก่ผู้ปกครองแบบผสมผสานเพื่อให้เหมาะสมกับสังคมไทยเป็น
4
ระดับ
ดังนี้
1. ระดับห้องเรียน
2. ระดับโรงเรียน
3. ระดับชุมชน
4. ระดับมวลชน
จากรูปแบบดังกล่าวข้างต้นสามารถสรุปออกเป็นลักษณะของฐานการเรียนรู้เป็น
3
รูปแบบ
ดังนี้
1. การใช้บ้านเป็นฐานในการเรียนรู้
(home
base) เป็นการจัดกิจกรรมให้ความรู้กับผู้ปกครองถึงที่บ้าน
เช่น การเยี่ยมบ้าน การส่งจดหมาย เอกสารถึงบ้าน การจัดทำโฮมสคูล (Home
School)
2. การใช้โรงเรียนเป็นฐานในการเรียนรู้
(school
base) เป็นการจัดกิจกรรมความรู้ให้ผู้ปกครองที่โรงเรียน
เช่น การจัดแสดงผลงานเด็ก การประชุม
การจัดสัมมนา การจัดนิทรรศการ การจัดมุมผู้ปกครอง
3. การใช้ชุมชนเป็นฐานในการเรียนรู้
(community
vase) เป็นการเผยแพร่ความรู้ผ่านชุมชน
เช่น หมู่บ้าน วัด โบสถ์ มัสยิด วิทยุ โทรทัศน์ ระบบอินเตอร์เน็ต วารสาร นิตยสาร
สื่อสิ่งพิมพ์ ฯลฯ ซึ่งกิจกรรมที่จัดโดยผ่านชุมชนประเภทต่างๆ พ่อแม่
ผู้ปกครองสามารถเลือกเรียนรู้ได้ตามความสนใจที่สอดคล้องกับสภาพทางครอบครัว สังคม และวัฒนธรรมของตนเอง
นับเป็นแนวทางให้ความรู้ที่เหมาะสมกับผู้ปกครองในสังคมยุคปัจจุบันมากขึ้น
แนวทางการให้ความรู้แก่ผู้ปกครองเด็กปฐมวัย
ฉันทนา ภาคบงกช (2531)
ได้เสนอแนวทางในการให้ความรู้แก่ผู้ปกครองไว้ดังนี้
1. สำรวจความสนใจ
ความต้องการ รวมทั้งปัญหาต่างๆ ในการอบรมเลี้ยงดูเด็ก
โดยการสัมภาษณ์หรือใช้แบบสอบถาม
2. จัดบริการต่างๆ
เพื่อเผยแพร่ความรู้แก่ผู้ปกครอง เช่น -
เชิญวิทยากรมาบรรยาย อภิปราย สาธิต
- จัดห้องสมุดและศูนย์ของเล่นสำหรับเด็ก
- จัดศูนย์แนะแนวผู้ปกครองเพื่อให้คำแนะนำ
- จัดตั้งชมรมหรือสมาคมผู้ปกครอง
แนวปฏิบัติของสถานศึกษา
ในการจัดกิจกรรมการให้ความรู้แก่ผู้ปกครอง
สถานศึกษาถือเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้ผู้ปกครองได้ประสบผลสำเร็จในการเรียนรู้
ดังนั้นสถานศึกษาควรมีแนวปฏิบัติดังนี้
1. รับฟังความคิดเห็นและความรู้สึกที่ผู้ปกครองมีกับลูก
2. ขณะที่พูดคุยกับผู้ปกครองเด็ก
ไม่ใช้เป็นการพูดถึงเด็กในทางที่ไม่ดีเท่านั้น
แต่ควรพูดถึงในสิ่งที่ดีที่เด็กสามารถพัฒนาขึ้นมาก
3. ควรหลีกเลี่ยงคำอธิบายหรือใช้คำศัพท์ทางวิชาการในการอธิบายพูดคุยกับพ่อแม่
ผู้ปกครอง
ผู้ปกครองถือเป็นผู้ที่มีความสัมพันธ์และมีอิทธิพลต่อความเจริญเติบโต
พัฒนาการ การเรียนรู้ การปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรมให้แก่เด็กปฐมวัย
การที่ผู้ปกครองมีความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องในการอบรมเลี้ยงดูเด็กปฐมวัย
ก็จะช่วยให้ประสบผลสำเร็จในชีวิตตั้งแต่เริ่มต้น การให้ความรู้ผู้ปกครองนับเป็นงานที่ต้องอาศัยความร่วมมือกับหน่วยงานทุกฝ่าย
เพื่อดำเนินการเผยแพร่ความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องให้ผู้ปกครอง
หน่วยงานที่มีบทบาทหลักในการให้ความรู้
แก่ผู้ปกครองคือ สถานศึกษา ซึ่งจะต้องดำเนินการให้ความรู้ความเข้าใจในเรื่อง
การอบรมเลี้ยงดู การส่งเสริมพัฒนาการและการเรียนรู้ การจัดการศึกษาของสถานศึกษา
บทบาทของผู้ปกครองกับการศึกษาของเด็กทั้งที่บ้านและสถานศึกษา
โดยดำเนินการให้การศึกษาแก่ผู้ปกครองโดยเลือกรูปแบบวิธีการ
ที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมทางการศึกษาของผู้ปกครอง เพื่อให้ผู้ปกครอง รับประโยชน์สูงสุด ประกอบด้วย 3 รูปแบบ คือ บ้านเป็นฐานการเรียนรู้
โรงเรียนเป็นฐานการเรียนรู้ และชุมชนเป็นฐานการเรียนรู้
การนำความรู้ไปประยุกต์ใช้
สามารถนำความรู้ที่ได้รับจากการเรียนนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้หรืออาจจะเป็นในอนาคตซึ่งหากเราเป็นครู เราจะมีวิธีการอย่างไรในการให้ความรู้สำหรับผู้ปกครอง และจะทำให้การประสานงานระหว่างบ้านและโรงเรียนราบรื่น มีความเข้าใจกันดีอีกด้วย
ประเมินผล
ประเมินตนเอง : ตั้งใจเรียนดี ฟังครูอธิบายเนื้อหา และเข้าใจเนื้อหา
ประเมินเพื่อน : เพื่อนตั้งใจเรียน อาจมีพูดคุยกันบ้าง บรรยากาศในห้องสนุกสนาน
ประเมินอาจารย์ : อาจารย์มาสอนตรงเวลา แม้อาจารย์จะมีธุระมากมายแต่ก็เห็นความสำคัญของนักศึกษา
เป็นที่ 1 อีกทั้งยังตั้งใจสอนอย่างเต็มที่
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น